ไทศิวะ อคาเดมี
ตามที่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ได้กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) จะต้องได้รับหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย จากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรอง
โดยวิชาที่ต้องอบรม มีดังนี้
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจรักษาความปลอดภัย (ทฤษฎี 2 ชั่วโมง)
ทำความเข้าใจถึงนิยาม ที่มา ความสำคัญ ข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และบทบาทหน้าที่ของธุรกิจรักษาความปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ รปภ. มีความตระหนักรู้ในแก่นสารของธุรกิจ และสามารถประพฤติปฏิบัติตนได้ตามจุดมุ่งหมายของธุรกิจ ตลอดจนให้ความสำคัญในการให้ความร่วมมือกับกิจกรรมปกป้องความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย (ทฤษฎี 2 ชั่วโมง)
เรียนรู้ถึงประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การรักษาความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน (ทฤษฎี 3 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 4 ชั่วโมง)
เรียนรู้และฝึกฝนเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ต่าง ๆ การใช้เครื่องแบบและเครื่องมือต่าง ๆ การป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น การสังเกตจดจำลักษณะบุคคลและเหตุการณ์ผิดปกติ ฯลฯ
การเขียนรายงาน (ทฤษฎี 1 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 1 ชั่วโมง)
ทำความเข้าใจถึงหลักการเขียนรายงานประจำวัน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฝึกเขียนรายงานให้อยู่ในรูปแบบที่ทำให้ทราบถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน และเป็นหลักฐานในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานตำรวจกรณีมีเหตุไม่พึงประสงค์
การเตรียมพร้อมกรณีเหตุฉุกเฉิน (ทฤษฎี 2 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 3 ชั่วโมง)
ศึกษาคำนิยามของเหตุฉุกเฉิน การสังเกตเหตุการณ์ที่จะมีแนวโน้มเกิดเหตุฉุกเฉิน และการรับมือตามระดับความรุนแรงของเหตุฉุกเฉินเพื่อให้ รปภ. สามารถปฏิบัติได้ในขอบเขตที่เหมาะสม และลดความเสี่ยง ความเสียหายให้ได้มากที่สุด
การติดต่อสื่อสาร (ทฤษฎี 1 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 1 ชั่วโมง)
หลักเกณฑ์การสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ และการฝึกใช้เครื่องมือช่วยในการสื่อสาร ให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายของการสื่อสารนั้น
หลักการใช้กำลัง (ทฤษฎี 2 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 2 ชั่วโมง)
เรียนรู้ขอบเขตการใช้กำลังเฉพาะในเหตุที่จำเป็น ทางเลือกและข้อพิจารณาในการใช้กำลัง และฝึกท่าใช้กำลังอย่างมืออาชีพ
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (ทฤษฎี 2 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 2 ชั่วโมง)
เรียนรู้และฝึกฝนเพื่อช่วยชีวิตคนอย่างถูกหลัก ซึ่งจะเป็นวิชาติดตัวที่มีค่ามากในการช่วยให้ผู้เจ็บป่วยรอดชีวิต ป้องกันการบาดเจ็บหรืออันตรายที่มากขึ้น และยังป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งแทรกซ้อนใดๆ ในภายหลัง
การจัดการจราจร (ทฤษฎี 1 ชั่วโมง, ปฏิบัติ 2 ชั่วโมง)
เพื่อสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ทางให้สามารถใช้ทางร่วมกันได้อย่างเป็นระเบียบ สะดวก และปลอดภัย
การฝึกภาคสนาม (ปฏิบัติ 9 ชั่วโมง)
ฝึกระเบียบ การจัดแถว และกระบวนท่าที่จำเป็น ตลอดจนข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในหน้าที่รักษาความปลอดภัย
เมื่อผ่านการฝึกอบรม จะได้รับใบรับรองการฝึกอบรมรักษาความปลอดภัย ( ธภ.12 ) ที่ต้องใช้ในการยื่นขอใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษความปลอดภัย ( ธภ.7 ) ต่อไป